ในวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2568 นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 และเจ้าหน้าที่ส่วนสารสนเทศการเกษตร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิต การตลาดลำไยของกลุ่มแปลงใหญ่ และสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน
📌🛎️สถานการณ์การผลิต พบว่า กลุ่มแปลงใหญ่ลำไยหนองตอง อำเภอหางดง กลุ่มแปลงใหญ่ตำบลชมพู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และกลุ่มแปลงใหญ่ทาขุมเงิน อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เป็นกลุ่มที่มีการพัฒนาคุณภาพผลผลิต การพัฒนามาตรฐาน GAP ตามหลักการของแปลงใหญ่ ซึ่งส่งผลให้คุณภาพของผลผลิตดี ลูกโต โดยพบว่าด้านการลดต้นทุนมีการให้สมาชิกผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพใช้เอง มีการใช้สารชีวภัณฑ์ ร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมี ด้านการเพิ่มผลผลิต กลุ่มสามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึง 200-500 กิโลกรัมต่อไร่ และด้านพัฒนาคุณภาพ พบว่าทุกแปลงได้รับมาตรฐาน GAP 100% อย่างไรก็ตาม บางพื้นที่ยังพบการระบาดของโรคจุดสนิม โรคราน้ำฝน และผลแตก/ร่วงของลำไยเนื่องจากพื้นที่ปลูกมีความชื้นสูง (ฝนตกยาวนาน) ต้นลำไยมีพุ่มแน่นทึบ ใบสั้นหงิก ส่งผลให้ผลผลิตเน่า แตก ร่วง ทั้งนี้เกษตรกรคงต้องเฝ้าสำรวจสวนอย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาผลผลิตให้มีคุณภาพ เพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาด
✅✅สถานการณ์ด้านการตลาด ณ วันที่ 19 ก.ค. 2568 พบว่า ผลผลิตลำไยในฤดูของภาคเหนือ 8 จังหวัด ปี 2568 ออกสู่ตลาดแล้ว จำนวน 108,175.70 ตัน โดยราคารับซื้อโดยเฉลี่ยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน 📌ผลผลิตลำไยขนาด AA กิโลกรัมละ 15-16 บาท, ขนาด A 7-8 บาท , ขนาด B ราคา 4 บาท และขนาด C ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 0.50-1 บาท เท่านั้น ซึ่งผลผลิตลำไยที่ออกสู่ตลาดระยะนี้จะมี ขนาด A และ B มากที่สุด สำหรับกลุ่มแปลงใหญ่ ส่วนใหญ่มีการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบ Online ,Modern Trade ส่งออก ราคารับซื้ออยู่ที่ประมาณ 30-33 บาทต่อกิโลกรัม และบางส่วนส่งเข้าโรงงานอบแห้งตามปริมาณโควต้าที่ได้รับจาก สมาคมลำไยอบแห้งภาคเหนือ ทั้งนี้ การแก้ปัญหาสำหรับเกษตรกรในระยะยาว คือ ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มลำไยแปลงใหญ่ เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพ ลูกผลดก ใหญ่ ตามมาตรฐาน GAP จนเป็นที่ต้องการของตลาด โดยกลุ่มจะเป็นผู้กำหนดราคาเอง ได้ราคาสูง ซึ่งปัจจุบัน สมาชิก/กลุ่มลำไยแปลงใหญ่ยังเป็นส่วนน้อย ถ้าเทียบกับเกษตรกรรายย่อยที่ปลูกลำไยทั้งหมด






























